เอกสารการ หางาน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้บ่งบอกตัวตนของผู้สมัครงาน ให้ผู้คัดเลือกได้รู้ข้อมูลของคุณเบื้องต้น ก่อนทำการตัดสินใจคัดเลือกคุณเข้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์งานต่อไป สำหรับบางคนที่ไม่รู้จะเขียนเรซูเม่อย่างไรให้น่าสนใจ อาจจะลองทำการค้นหาข้อมูลตัวอย่างเรซูเม่ ในสื่อออนไลน์ดูก็ได้ เพื่อนำมาปรับใช้กับรูปแบบการเขียนในสไตล์คุณ โดยทั่วไปแล้วใบสมัครงานไม่ได้มีรูปแบบหรือข้อกำหนดบังคับว่าต้องใส่ข้อมูลอะไรลงไปบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่คนหางานจะทราบกันดีว่าข้อมูลที่ควรจะใส่ลงไปในเอกสารจะมีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา รวมถึงประวัติการทำงานที่บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา ให้ผู้คัดเลือกได้ทราบข้อมูลเบื้องต้น ว่าคุณนั้นมีความเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่หรือไม่
การนำเสนอข้อมูลประวัติในใบสมัครงานควรมีความตรงไปตรงมา และมีข้อเท็จจริงสามารถพิสูจได้ แน่นอนว่าหลายองค์กรมักจะตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว ประวัติของผู้สมัครงานเบื้องต้นกับองค์กรเก่าก่อนตัดสินใจ เพื่อลดข้อผิดพลาดหรือปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังจากรับผู้สมัครงานคนนั้นเข้ามาทำงานแล้ว นอกจากนี้ผู้สมัครงานส่วนใหญ่มักจะมีการเตรียมความพร้อมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมขององค์กรที่ตนเองสนใจก่อนที่จะส่งใบสมัครงานเข้าไป เพราะสิ่งเหล่านั้นเปรียบเสมือนการสร้างแรงจูงใจให้สนใจตำแหน่งงานในองค์กรนั้น รวมถึงการเตรียมเอกสารอื่นๆ ที่ใช้สำหรับการสมัครงานเบื้องต้นอีกด้วย
ขั้นตอนการสัมภาษณ์งานต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
- รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้วก็ได้ รูปถ่ายสำหรับใช้ยื่นในการสมัครงาน มีความจำเป็นต้องใช้ยื่นตอนสมัครงานกับทุกองค์กร โดยส่วนใหญ่แล้วรูปถ่ายนั้นจะมีแบบครั้งตัวและเต็มตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละองค์กร แต่ส่วนใหญ่มาตรฐานแล้วจะเป็นแบบครึ่งตัว และที่สำคัญภาพถ่ายนั้นไม่ควรนานกว่า 6 เดือน เปรียบเสมือนเป็นการอัพเดตหน้าตาผู้สมัครงานอีกด้วย
- สำเนาบัตรประชาชน ถือเป็นเอกสารที่ใช้แสดงตัวตนของคุณว่าคุณเป็นคนไทย สัญชาติไทยจริง เพื่อรองรับการทำงานที่ถูกกฏหมาย รวมถึงสามารถทราบรายละเอียดส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นวัน เดือน ปีเกิด หรือภูมิลำเนาดั่งเดิม รวมถึงเลขที่บัตรประชาชนที่ใช้แสดง เพื่อใช้เป็นหลักฐานหากพนักงานคนนั้นทุจริต หรือประพฤติไม่ดี ก็จะสามารถสืบค้นข้อมูลหรือนำข้อมูลเหล่านั้นไปแจ้งความได้ ดังนั้นสำเนาบัตรประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่ผู้สมัครงานไม่ควรลืม
- สำเนาทะเบียนบ้าน ในส่วนนี้จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับภูมิลำเนาหรือที่อยู่อาศัยของผู้สมัครงาน เพื่อที่ทางองค์กรจะได้ทราบว่าผู้สมัครงานเป็นคนพื้นเพมาจากจังหวัดอะไร แล้วตอนนี้มีรายชื่ออาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านที่ไหน เพื่อใช้สำหรับติดต่อเพิ่มเติมในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน อีกทั้งองค์กรยังสามารถใช้เป็นเกณฑ์คัดเลือกอีกด้วย เพราะหากอาศัยอยู่ไกลจากที่ทำงาน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมาสายหรือขาดงาน
- สำเนาวุฒิการศึกษา เป็นเอกสารที่ใช้รับรองวุฒิการศึกษาของผู้สมัครงาน ว่ามีการศึกษาจบจากสถาบัน คณะ รวมถึงสาขาที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานจริง เพราะหากจบไม่ตรงสาขา หรือไม่มีความรู้ความสามารถในการทำงาน ก็จะส่งผลการระบบการทำงานในอนาคตได้ ดังนั้นแล้วส่วนใหญ่องค์กรจะทำการเลือกผู้หางานที่จบตรงสาขาที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
- สำเนาใบแสดงพ้นภาระทางการทหาร เอกสารชิ้นนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพศชายที่นำหลักฐานมาแสดงให้องค์กรต่างๆ ทราบว่าได้ผ่านการเกณฑ์ทหารมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อช่วยลดภาระในอนาคตเพราะหากถ้ายังไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร พอถึงช่วงเวลาก็จะต้องลางานเพื่อกลับไปทำหน้าที่ ก็ถือเป็นการสร้างภาระให้กับองค์กรที่จะต้องหาคนเข้ามาทำงานแทนในช่วงเวลาที่คุณลา
- เอกสารแสดงผลงาน (ถ้ามี) สำหรับเอกสารในส่วนนี้องค์กรส่วนใหญ่ไม่ได้บังคับหรือมีกฏตายตัวว่าต้องนำมาแสดง แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้สมัครงานที่เตรียมความพร้อมก็จะทำการเตรียมเอกสารเหล่านั้นมาเอง เพื่อแสดงให้กับผู้คัดเลือกได้ดูเพื่อใช้ในการตัดสินใจ หรือเรียกได้ว่าใช้แสดงเป็นหลักฐานที่บ่งบอกถึงความสามารถว่าคุณมีประสบการณ์หรือเคยผ่านงานนั้นๆ มาแล้วจริง และมีความรู้ความสามารถอยู่เหนือคู่แข่งผู้สมัครงานคนอื่นๆ
ดังนั้นหากคุณมีประสบการณ์ในการเขียนเรซูเม่อยู่บ่อยครั้งก็จะทราบทิศทางในการเขียนข้อมูลต่างๆ ลงไป แต่หากส่งใบสมัครงานไปเท่าไหร่ก็ไม่มีวี่แววที่จะเรียกสัมภาษณ์งาน คุณอาจจะต้องลองปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือข้อมูลในเรซูเม่เพื่อให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญจะต้องลองสร้างจุดเด่นให้กับตนเองด้วย เพื่อให้ผู้คัดเลือกได้มองเห็นถึงความแตกต่างและโดดเด่นในการทำงานของคุณ ให้ใบสมัครงานของคุณน่าสนใจกว่าคู่แข่งขันสมัครงานคนอื่นๆ ได้